ada จากการพัฒนารูปแบบการสื่อสารภายในองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว เชื่อมโยงทุกหน่วยธุรกิจเข้าด้วยกัน สู่เวทีการแข่งขันของกลุ่มบริษัท CDG & G-ABLE Innovation Award กลายเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ในรูปแบบของโมบายแอพพลิเคชั่น
ที่ตอบโจทย์ได้ตรงกลุ่มผู้ใช้ในองค์กร ให้ติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกและปลอดภัย พร้อมการพัฒนาก้าวต่อไปแอพพลิเคชั่นที่เป็นศูนย์รวมการสื่อสารในองค์กรเต็มรูปแบบ ด้วยการ “สร้างโซเชียลมีเดียให้องค์กร”
ด้วยความสำเร็จจากนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับการสื่อสารในองค์กร ผ่านทางโมบายแอพพิเคชั่น สู่การสร้างสรรค์และนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจ จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่
เริ่มต้นจากแนวคิดของ คุณนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี และกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ที่ตอกย้ำ Disruptive Technology พร้อมกระตุ้นให้สร้าง CDG & G-ABLE Innovation Award เป็นเวทีของพนักงานในการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร
คุณปิยะ ตั้งสิทธิชัย Vice President, Information Technology Systems Department กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า CDG & G-ABLE Innovation Award เปิดกว้างสำหรับพนักงานที่มีไอเดียสร้างสรรค์มานำเสนอ
เพื่อเป็นการจุดประกายให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายในและเป็นการกระตุ้นแนวคิดที่สามารถต่อยอดเป็นโมเดลธุรกิจต่อไปได้ โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 สำหรับโครงการ Innovation Award ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทการประกวด คือ Inno Project และ Spark Idea
Inno Project – เป็นการประกวดโดยใช้แนวคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากภายนอกองค์กร ทั้งในส่วนของโครงการที่สร้างความสำเร็จให้กับลูกค้า หรือเกิดจากการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้
รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทรนด์ที่เกิดขึ้นในท้องตลาด ซึ่งนำมาพัฒนาจนสำเร็จพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้า โดยจะถูกนำมาวิเคราะห์และพัฒนาจนตกผลึกเป็นบริการที่ได้รับความนิยม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แอพพลิเคชัน JS100 (จ.ส. 100)
ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันที่ทำให้ผู้ใช้รับทราบสถานการณ์บนท้องถนน ดูแผนที่เดินทาง ติดตามข่าวสาร ข้อมูลทวิตเตอร์ และแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน อำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจสำหรับการเดินทาง
Spark Idea – เป็นการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ของพนักงาน ที่สามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้ในตลาดไอที ตัวอย่างเช่น แนวคิดโครงการ Harvest เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการวางแผนการผลิต และ การตลาดอย่างครบวงจร เชื่อมโยงทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าสู่กลุ่มเกษตรกร
เพื่อสร้างการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับรางวัลจากการประดวกในปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นไอเดีย แต่ก็เป็นการจุดประกายไปยังไอเดียอื่นๆ ในกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง
คุณชัยวุฒิ ระตีพูน Core Solution Delivery Manager, Information Technology Systems Department กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวถึงก่อนที่นวัตกรรมต่างๆ จะถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้ ต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้น ตั้งแต่ในระดับสายงาน Business Unit (BU)
ซึ่งแต่ละ BU จะมีการคัดเลือกไอเดียที่โดดเด่นเข้ามาพิจารณา และเมื่อผ่านระดับ BU มาแล้ว จึงเข้าสู่เวทีใหญ่ CDG &G-ABLE Innovation Award ซึ่งในปีที่ผ่านมามีนวัตกรรมที่เข้าประกวดประมาณ 50 โครงการ แบ่งออกเป็น Inno Project 18 โครงการ และ Spark Idea 27 โครงการ
เมื่อผ่านเข้ามาสู่เวทีใหญ่ ก็ต้องผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการใหญ่ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 รอบ และ ada ได้คว้าตำแหน่งชนะเลิศในระดับ BU : Business Support Innovation Award และก้าวสู่การแข่งขันบนเวทีใหญ่ CDG & G-ABLE Innovation Award โดยผ่านเข้าสู่รอบแรก และขึ้นแท่น 1 ใน 5 ในรอบที่สอง ด้วยนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจได้อย่างเต็มภาคภูมิ
คุณชลดรงค์ รัตนพร IT Specialist, Information Technology Systems Department กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวถึงการเริ่มต้นโครงการ ada ที่เป็นการมองหาโมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้ในองค์กร
โดยคาดหวังให้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารภายใน และมุ่งเป้าไปที่การสร้างโซเชียลมีเดียในองค์กร ซึ่งจุดสำคัญคือ ต้องได้การยอมรับจากผู้ใช้หรือพนักงานและการร่วมมือของฝ่ายสื่อสารภายในองค์กร
ด้วยการนำเสนอบริการในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา (Chat), การค้นหาเบอร์ติดต่อ (Contact), รวมไปถึงบริการด้านข่าวสาร (News Feed) เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารในองค์กรได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดสำหรับพนักงานในทุกที่ ทุกเวลา
“นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเสริมเทคโนโลยี VoIP เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ในช่วงประมาณต้นปี 2017 และมีแนวโน้มจะพัฒนาฟังก์ชั่นเสริม อาทิ ระบบการเชื่อมโยงของฝ่ายบุคคล เพื่อให้พนักงานที่อยู่ตามไซต์งานซึ่งอาจไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถติดต่อและแจ้งลาได้ง่ายขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น” คุณชลดรงค์ กล่าว
ความสำเร็จในด้านการประยุกต์ใช้ในธุรกิจอย่างจริงจัง โดย ada ใช้เวลาในการพัฒนาตั้งแต่เป็น Innovation ด้วยการรวบรวมความต้องการจากผู้ใช้เป็นเวลา 1 ปี และนำมาวิเคราะห์ระบบเพิ่มเติม จนส่งให้ถึงมือผู้ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับใช้ในการค้นหาหรือจองที่นั่งรถรับส่งสำหรับพนักงาน
ซึ่งสามารถรายงานต้นทาง-ปลายทาง ของรถแต่ละคัน เพื่อรองรับพนักงานที่เดินทางไปมาจำนวนมาก โดยใช้พื้นฐานจากระบบของ ada และนำไปประยุกต์ใช้ ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การร่วมมือกับผู้พัฒนาในด้านซอฟต์แวร์นำทาง GPS มาใช้ร่วมกัน เพื่อระบุตำแหน่งการเดินรถแต่ละคัน พร้อมการกำหนดเส้นทางในการเดินทาง
นอกจากนี้ ada ยังมองไปถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น องค์กรที่มีพนักงาน 100-500 คน หรือมากกว่า ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในระบบติดต่อสื่อสารภายในองค์กร
คุณชัยวุฒิ เสริมข้อมูลเพิ่มเติมในจุดแข็งของ ada ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในระบบไอทีที่มีมายาวนาน พร้อมข้อมูลที่มีการรวบรวมจากการใช้งานจริงของผู้ใช้ในองค์กร จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด
เมื่อรวมกับทีมที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาด้านโมบายแอพพลิเคชั่น จึงสามารถจัดการผสมผสานบริการได้อย่างลงตัว ซึ่งต้องยอมรับว่าการรวมทีมที่มากด้วยประสบการณ์เช่นนี้ จะรองรับความต้องการของลูกค้าได้ในทุกด้าน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ “การยอมรับ” จากคนในองค์กร ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา ada นำข้อมูลความต้องการที่ได้จากความคิดเห็นของคนในองค์กรซึ่งเกิดจากการใช้งานจริง จนสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดการพัฒนา และการผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กร
เพื่อให้สามารถนำมาใช้ปรับปรุงแอพพลิเคชั่น และนำไปใช้ร่วมกับองค์กรอื่นได้ โดยยังเน้นไปที่ตลาดองค์กรขนาดใหญ่เช่นเดียวกับแนวทางของ G-ABLE ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วใน G-Approval ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่น ที่ช่วยให้ผู้บริหาร สามารถเข้ามาตรวจเช็ค ให้ความเห็นและอนุมัติงานของหน่วยงานต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
อีกทั้งพบว่าคู่แข่งในธุรกิจลักษณะเดียวกันในตลาดยังไม่มากนัก จึงมีช่องทางขยายสู่เส้นทางตลาดองค์กรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยกลยุทธ์สำคัญคือ การสร้าง Reference Site แล้วต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ โดยมุ่งเป้าในการเจาะกลุ่มตลาดอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบสื่อสารองค์กรในอนาคต
เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคต แผนในการพัฒนาขั้นที่สอง จึงเป็นการเสริมเทคโนโลยีใหม่เข้าไปใน ada ไม่ว่าจะเป็นระบบ VoIP ซึ่งเป็นการโทรฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และระบบงานของแต่ละบุคคล เช่น ตารางงานในแต่ละหน่วยงานและการแชร์ข้อมูลข่าวสารในองค์กร
เป้าหมายคือ การสร้างโซเชียลมีเดียให้องค์กร ด้วยการรวมทุกสิ่งให้เป็นบริการแบบครบวงจร โดยองค์กรสามารถสื่อสารหรือแจ้งข้อมูลทุกอย่างได้ในแอพนี้ เปรียบเสมือนการย่อระบบ Intranet มาอยู่ในรูปแบบของโมบายแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เข้าถึงพนักงานทุกคนในองค์กร
ด้วยตัวเลขที่มากกว่า 50% จากปริมาณของพนักงานที่ใช้แอพ ada มากกว่า 1,200 คน จากพนักงาน 2 พันกว่าคน ในกลุ่ม CDG & G-ABLE ทั่วประเทศ จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ และทีมพัฒนายังสามารถต่อยอดจากแนวคิดและข้อเสนอแนะ จากการใช้งานจริงของกลุ่มผู้ใช้โดยตรง
ซึ่งมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง และสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การพัฒนาให้ถูกใจผู้ใช้มากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีอื่นมาเป็นส่วนเสริม
คุณชลดรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่อาจส่งผลต่อการพัฒนา ada ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับระบบ iOS และ Android ทั้งเรื่องของขนาดหน้าจอ ความเข้ากันได้ จึงอาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุงให้เข้ากับข้อมูลความต้องการจากผู้ใช้ที่หลั่งไหลเข้ามา จึงต้องวางระบบการทำงานให้เหมาะสม
เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เชื่อมโยงข้อมูลในระบบอื่นๆ ขององค์กรและภายนอก ที่สำคัญคือ การผลักดันให้พนักงานเข้ามาสู่ระบบเพื่อใช้งาน และต้องสามารถดึงออกมาจากระบบสนทนาพื้นฐาน เช่น การนำข้อมูลของพนักงานอื่นๆ มารวมกันในแอพ และสร้างระบบร่วมเพื่อให้พนักงานสามารถติดต่อกันง่ายขึ้น อีกทั้งมีการป้องกันข้อมูลรั่วไหลด้วยการเข้ารหัส และให้ความเป็นส่วนตัวอีกด้วย
อีกหนึ่งความสำเร็จในการส่งเสริมการเป็นองค์กรนวัตกรรม ทีมงาน ada เริ่มต้นจากทีมผู้ดูแลระบบไอทีกลางของบริษัท และนักพัฒนาซอฟต์แวร์โมบายแอพพลิเคชั่นของ G-ABLE ก้าวสู่การนำเสนอโครงการ ด้วยไอเดียที่โดดเด่นในการประกวด Innovation Award จนเป็นต้นแบบนำไปพัฒนาแอพพลิชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม