
02 มิ.ย. ปลดล็อค IoT Challenges ไขปัญหาของการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อพลิกโฉมธุรกิจแบบองค์รวม
IoT : THE BIG PICTURE
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานในภาครัฐต่างให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการดำเนินงานขององค์กร ผู้บริหารในองค์กรต่างทราบดีถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการนำ IoT เข้ามาใช้ภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม ถ้าเราถอยหลังออกมาสักหนึ่งก้าวแล้วมองย้อนกลับเข้าไปในองค์กรต่าง ๆ พัฒนาการของ IoT ยังไม่อยู่ในระยะของการเจริญเติบโต ภาพของการติดตั้งแบบขนานใหญ่ยังดูห่างไกลนัก อะไรเป็นอุปสรรคในการเติบโตของนำเทคโนโลยี IoT มาใช้อย่างจริงจังในปัจจุบัน
บริษัท Microsoft ได้จัดทำการสำรวจและเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 กล่าวถึงความแพร่หลายในการใช้งานเทคโนโลยี IoT และอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนในโครงการด้านเทคโนโลยี และมาจากองค์กรที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีนและญี่ปุ่น
โดยรวมแล้ว 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้เริ่มทดลองใช้และมีบางรายได้มีการนำ IoT เข้ามาใช้ภายในองค์กรอย่างจริงจังแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ระบุว่าธุรกิจของพวกเขาวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีภายในสิ้นปี 2564
เพราะเหตุใดจึงนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ในองค์กร
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่คาดว่าจะนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ในองค์กร คำตอบที่ได้ส่วนมากคือ การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดให้อยากนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ นอกจากเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ ได้แก่ ความปลอดภัยในการทำงาน การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การประกันคุณภาพสินค้าและบริการ การติดตามทรัพย์สิน และการเพิ่มยอดขาย เป็นต้น
แต่ละองค์กรจะมีความคาดหวังผลประโยชน์ที่จะได้จากการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ ด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปตามประเภทธุรกิจ ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมก็จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในด้านประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิต เพราะสามารถส่งผลต่อผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินได้อย่างชัดเจน ในอุตสาหกรรมพลังงานก็จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เพราะจะช่วยป้องกันความสูญเสียมูลค่ามหาศาลหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ในด้านธุรกิจรักษาสุขภาพก็จะให้ความสำคัญกับการติดตามคนไข้และบุคลากร รวมถึงการดูแลและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์

ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า
ถึงแม้ว่าประโยชน์จะเห็นได้อย่างชัดเจน แต่การจะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก อุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินโครงการด้าน IoT ยังคงมีอยู่ และนี่คือความท้าทายจากความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งได้เริ่มโครงการ IoT แล้ว และได้พบกับอุปสรรคที่คล้าย ๆ กัน พอสรุปได้ดังนี้ ความสลับซับซ้อน การขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ การขาดแคลนแหล่งความรู้ การขาดโซลูชันที่เหมาะสมลงตัวกับธุรกิจ ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบ

1. ความสลับซ้อนทางเทคนิค
ความสลับซับซ้อนทางเทคนิคในโครงการ IoT นั้นเกิดจากการที่มีอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมาก และ หลากหลายชนิด อุปกรณ์เหล่านี้มีวิธีการติดต่อสื่อสารที่แตกต่างกัน ไม่สามารถเชื่อมต่อหรือสื่อสารกันได้โดยตรง ต้องมีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ นอกจากอุปกรณ์ที่หลากหลายแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านั้นที่หลากหลายอีกด้วย ( 1 ยี่ห้อ ก็ต้องติดต่อบริษัทเพิ่มขึ้น 1 บริษัท) ในโครงการที่ต้องมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากจะยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนและความยุ่งยากในการดำเนินงานของโครงการ
ความสลับซับซ้อนเช่นนี้ส่งผลให้การดำเนินงานของโครงการจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่ยาวนานมากขึ้น ใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่มากขึ้น ยิ่งโครงการใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้นเท่าไร จะส่งผลให้ ROI ของโครงการลดลงมากขึ้นเท่านั้น ตลอดจนบริษัทเล็ก ๆ ที่เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์จะไม่สามารถรอระยะเวลาการเก็บเงินที่ยาวนานได้ ในท้ายที่สุดก็จะทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ
ดังนั้นกลยุทธ์ในการจัดการกับความสลับซับซ้อนนี้ก็คือ การคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีความรับผิดชอบ มีความสามารถในการบริหารโครงการ สามารถประสานงานและบริหารผู้จัดหาอุปกรณ์รายย่อย ๆ จำนวนมากที่จะเข้ามาร่วมในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ขาดแคลนบุคลากรเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับโครงการ IoT
การวิจัยชี้ให้เห็นว่าเกินครึ่งหนึ่ง (58%) ของความท้าทายนั้นเป็นปัญหาในด้านของการขาดแคลนบุคลกรที่มีทักษะ(29%) และการขาดแคลนแหล่งความรู้(29%) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในตลาดด้าน IoT ว่า บุคลากรทางด้านนี้ยังคงขาดแคลน และยังไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาด
บุคลากรที่จะมาทำงานทางด้าน IoT นั้นจะต้องมีความรู้ และทักษะในหลาย ๆ สาขา กล่าวคือ ต้องมีความพื้นฐานทางวิศวกรรม ความรู้ทางด้านอิเล็คทรอนิกส์ และความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรม ความรู้ทางด้านการจัดการข้อมูลและ การวิเคราะห์ข้อมูล
สิ่งที่ทำได้ในขณะก็คือ องค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งเสริมสร้างความรู้หลากหลายสาขาเหล่านี้ให้กับบุคลากรของตนเอง ต้องมีการวางแผนการพัฒนา และ กำหนดระยะเวลาในการพัฒนาบุคลากรให้ชัดเจนเพื่อให้มีบุคลากรรองรับทันตามกำหนดเวลาที่โครงการด้าน IoT จะเริ่มใช้งานและปฏิบัติงานประจำวันในองค์กร
3. ขาดการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบ
ความห่วงใยในด้านการรักษาความปลอดภัยของระบบ IoT เป็นข้อห่วงกังวลของทุกองค์กรที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงอยู่ในระบบ IoT นอกจากจะใช้ในการอ่านค่าต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถรับคำสั่งให้ เปิด ปิด เคลื่อนที่ หรือ ทำงานที่สลับซับซ้อนต่าง ๆ ได้ ถ้าหากผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเจาะผ่านระบบรักษาความปลอดภัยเข้ามาควบคุมสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ จะสร้างความเสียหายต่อองค์กรในระดับที่ประเมินค่ามิได้ เหตุการณ์ที่เราเคยได้เห็นในภาพยนต์ดูจะไม่ไกลเกินความเป็นจริงเสียแล้ว
ดังนั้นการวางระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา มีการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งผ่านในเครือข่าย มีการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงอุปกรณ์ การหมั่นดูแลและคอยอัพเดตซอฟต์แวร์ และเฟิร์มแวร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยเพื่อปิดช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ก็นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการด้าน IoT

4. ขาดโซลูชันที่เหมาะสมลงตัวกับธุรกิจ
ปัญหาเรื่องรูปแบบการนำ IoT มาใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสมลงตัวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรและผู้จัดหาโซลูชัน ที่จะต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา และ ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตของงานที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้โครงการใช้งบประมาณที่บานปลาย และยังสามารถวัดผลตอบแทนที่เป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน
ใครคือผู้ที่จะผลักดันโครงการ IoT
เนื่องจากความสลับซับซ้อนของโครงการ IoT กลยุทธ์ในการดำเนินโครงการด้าน IoT จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้นำในการเชื่อมโยงประสานข้ามหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร นำพาวิสัยทัศน์ด้าน IoT และผลักดันให้ทุกทีมที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จไปด้วยกัน ดังนั้น ผู้นำในโครงการจึงต้องมีความรู้ในทางด้านเทคโนโลยีอย่างครอบคลุม และ มีความรับผิดชอบในทุก ๆ ภาคส่วนตั้งแต่หัวไปจรดท้าย
ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้นเป็นผู้เริ่มส่งสัญญาณออกสตาร์ทของโครงการ หัวหน้าทีมทางด้านไอทีและฝ่ายปฏิบัติการทุก ๆ คน รวมไปจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบต่างก็มีความสำคัญในสร้างและนำเทคโนโลยีไปใช้ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ดังเช่นที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้กล่าวเอาไว้ว่า “ฝ่ายไอทีนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างเรื่องราวทางธุรกิจ และเป็นผู้พัฒนาให้เกิดขึ้น”
Key Takeaway
การใช้ IoT ทั่วโลกและในทุกอุตสาหกรรมช่วยให้ บริษัทต่าง ๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีประสิทธิผลและความปลอดภัยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในด้านความซับซ้อน ความมั่นคงปลอดภัย และการขาดแคลนบุคลากร ให้เราต้องแก้ไขและก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้ ธุรกิจที่มีความพร้อม ในด้านความรู้ IoT มีบุคลากรและงบประมาณ และมีผู้นำที่เล็งเห็นประโยชน์ของ IoT ย่อมมีโอกาสในการประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการด้าน IoT แต่สำหรับผู้ที่ยังขาดความพร้อมเหล่านี้ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้ IoT ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากคาดว่า ROI ของโครงการด้านนี้จะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า IoT กำลังกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับองค์กรธุรกิจ และกล่าวได้ว่าอนาคตของ IoT นั้นดูสดใสอย่างแน่นอน
G-Able IoT Solutions
เรามีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจปัญหาด้านความซับซ้อนของระบบ ช่วยเชื่อมต่อระบบและเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งหลายประเภท เพื่อให้บริการข้อมูล (data services) ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเฝ้าระวัง การทำระบบอัติโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น การช่วยในการกำหนดนโนบาย การแสดงผล การลดเวลาการเรียนรู้ ฯลฯ และยังสามารถส่งต่อข้อมูลที่เก็บไว้เพื่อการทำการวิเคราะห์ชั้นสูง หรือ Big data ได้อีกด้วย
Meet the Experts
ที่ G-Able เราออกแบบ Solutions เพื่อธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ โดยเริ่มต้นจากการตอบโจทย์ทางธุรกิจ ให้ Fit กับ Business Needs เพื่อที่จะช่วยขยายธุรกิจของคุณให้ไปได้ไกลกว่าเดิม ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า และเพิ่มยอดขายไปได้พร้อมกัน