RPA ตัวช่วยลดต้นทุนระยะยาวทำงานอย่างฉลาดในยุค Digital

INSIGHTS

RPA ตัวช่วยลดต้นทุนระยะยาวทำงานอย่างฉลาดในยุค Digital

RPA คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจในระยะยาวได้ ซึ่งต้นทุนที่ว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องของเวลาอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะในยุค Analog หรือ Digital สิ่งที่เรียกว่า Man-hour นับเป็นต้นทุนแฝงทางธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก เวลาเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป

 

ในการทำธุรกิจทุกคนต่างรู้ดีว่า พนักงานหนึ่งคนมีเวลาทำงานเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น เราจึงควรใช้ 8 ชั่วโมงนี้ไปกับการทำงานที่จำเป็นและมีความสำคัญมากกว่างานที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจพัฒนาได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้

 

ในปัจจุบัน เราจึงมีเทคโนโลยีมากมายที่คิดค้นขึ้นมาทำงานแทนคน เพื่อให้คนนำเวลาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่องกว่า 19.53% โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาคือ RPA ที่เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกันในบทความนี้

 

RPA คืออะไร?

 

Robotic Process Automation หรือ RPA คือ เทคโนโลยีที่สามารถสร้าง “Software Robot” หรือ “โปรแกรมหุ่นยนต์อัตโนมัติ” ที่เลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ได้เพื่อใช้ทำงานแทนคน โดยเราสามารถตั้งค่าหรือออกแบบขั้นตอนการทำงาน (Workflow) และกระบวนการในการทำงาน (Process) ได้ โดยงานเหล่านั้นมักเป็นงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ รูปแบบเดิม ๆ

 

RPA คือ Software Robot ที่ผสมผสานเทคโนโลยี Machine Learning, Rule Engine, Image Recognition และ AI เข้าด้วยกัน RPA จึงสามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ และทำงานเหล่านั้นได้อัตโนมัติเหมือนกับคน แต่สามารถทำงานได้ไวกว่า ตลอด 24 ชั่วโมง ลดความผิดพลาดลงเป็น 0% และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

ตัวอย่างงานที่สามารถนำ RPA เข้ามาทำงานแทนได้

 

ผลสำรวจจาก Automation Anywhere ระบุว่า พนักงานใช้เวลากว่า 10 – 25% ทำงานซ้ำ ๆ รูปแบบเดิมหรือที่ไม่จำเป็น และกว่า 70 – 80% ของงานที่พวกเขาทำสามารถนำไปปรับใช้กับระบบอัตโนมัติได้ โดยตัวอย่างงานที่สามารถทำร่วมกับ RPA คืองานเหล่านี้

  • งานจัดการข้อมูลที่มีรูปแบบตายตัว เป็นข้อมูลซ้ำ ๆ แต่ต้องใช้เวลาในการทำและตรวจสอบ
  • งานปริมาณมากที่มีเงื่อนไขและความซับซ้อนน้อย
  • งานที่กำหนดการตัดสินใจอย่างตายตัว
  • งานป้อนข้อมูลพื้นฐานลงไปในระบบหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ
  • งานที่ต้องทำด้วยกระบวนการเดียวกัน
  • งานที่มีกระบวนการตายตัวและมีแอปพลิเคชันช่วยจัดการงานโดยเฉพาะ
  • งานจัดเก็บ จำแนก และวิเคราะห์ข้อมูล
  • งานที่ต้องใช้คนหลายบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องหรือผลัดเปลี่ยนเวรในการทำงาน

งานเหล่านี้มักเป็นงานเอกสาร งานอนุมัติข้อมูลเมื่อใส่ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนและไม่ผิดเงื่อนไข งานรับข้อมูลลูกค้าผ่านแอปพลิเคชันและจัดเก็บในฐานข้อมูล งานการแตกไฟล์ (Extract) และ Zip ไฟล์ งานแยกไฟล์จาก Email งานจัดเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์หรือ Social Media การจัดเก็บและแยกข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นเอกสาร และการสรุปเอกสารรายงาน (Report) เป็นต้น

 

RPA tools มีอะไรบ้าง? ตัวอย่างซอฟต์แวร์ RPA ที่มีอยู่ในตลาด เช่น Automation Anywhere, Blue Prism, PEGA, Redwood, UiPath และ WorkFusion เป็นต้น

 

ในช่วงปี 2019 – 2022 ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์มีข้อจำกัดอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการทำงาน หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักเพราะพนักงานไม่สามารถมาทำงานได้ ทำให้ไม่มีผลผลิต ไม่มีกำไร จนหลายธุรกิจต้องขาดทุนจำนวนมหาศาลเพราะไม่สามารถจ่ายค่าจ้างพนักงานได้ทั้งหมด ทำให้หลาย ๆ องค์กรเริ่มมองหา Solution ที่เข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาด RPA ครึกครื้นมากขึ้นเลยทีเดียว

 

กระบวนการทำงานของ RPA เป็นอย่างไร?

 

กระบวนการทำงานของ RPA อาจมีรายละเอียดยิบย่อยแตกต่างกันไปตามประเภทงานหรือประเภทธุรกิจ แต่กระบวนการทำงานหลัก ๆ ของ RPA สามารถแบ่งออกเป็น 4 กระบวนการใหญ่ ๆ คือ

 

ตั้งโปรแกรมและออกแบบ

เราสามารถกำหนดให้ RPA ทำงานอัตโนมัติได้โดยตั้งโปรแกรมหรือออกแบบกระบวนการทำงาน (Process) และขั้นตอนการทำงานแต่ละขั้น (Workflow) เพื่อให้โปรแกรมสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาทำงานเหล่านั้น

 

เรียนรู้การทำงาน

หลังจากใส่ข้อมูลให้หุ่นยนต์ของเราเรียบร้อยแล้ว RPA จะเรียนรู้ข้อมูลกระบวนการทำงานและขั้นตอนนั้นโดยมี Machine Learning ช่วยให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และ Artificial Intelligence วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเพื่อนำมาทำงานตามคำสั่งที่โปรแกรมไว้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี Image Recognition ที่เข้ามาช่วยในการอ่านเอกสารต่าง ๆ และจดจำภาพได้ รวมทั้งเทคโนโลยี Rule Engine ที่จัดการ Business Logic และเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ

 

ทำงานอัตโนมัติ

เมื่อ RPA เรียนรู้งานแล้วจะสามารถทำงานต่าง ๆ ที่เรากำหนดได้อัตโนมัติ และเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันรวดเร็ว มีความถูกต้องแม่นยำ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์ให้เป็นศูนย์

 

ผลลัพธ์ที่ได้

งานที่ RPA ทำสำเร็จมีลักษณะเหมือนงานที่คนทำทุกประการแถมยังใช้เวลาน้อยกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า เราสามารถตรวจสอบงานที่ RPA ทำออกมากได้ นอกจากนี้ PRA ยังเก็บข้อมูลที่สำคัญเอาไว้อย่างเป็นระบบ และองค์กรสามารถนำ Data ที่สำคัญเหล่านี้มาวิเคราะห์ประเมินผลการทำงานได้จริง

 

 

RPA มีกี่ประเภท?

 

Robotic Process Automation แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะการทำงานของซอฟต์แวร์ ได้แก่

 

1. Attended RPA

RPA จะเริ่มทำงานเมื่อเกิดการสั่งการเท่านั้น เมื่อเราต้องการใช้งานและป้อนคำสั่งรวมถึง Input Data เข้าไป Attended RPA จึงจะเริ่มทำงานตามคำสั่งในเวลาที่ User ต้องการ

 

2. Unattended RPA

PRA ประเภทนี้ถูกโปรแกรมมาให้ทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อไหร่ที่มีการอัปเดตเกิดขึ้น Unattended RPA จะประมวลผลและทำงานทันที เหมาะสำหรับงานที่มีขนาดใหญ่หรืองานที่ต้องการระบบอัตโนมัติมารองรับ เป็นต้น

 

RPA เหมาะกับธุรกิจแบบไหน?

 

เทคโนโลยี Robotic Process Automation สามารถนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น 

  • ธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ
  • ธุรกิจบริการทางการเงินและธนาคาร
  • ธุรกิจการดูแลสุขภาพ
  • ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต
  • ธุรกิจโทรคมนาคม
  • ธุรกิจหน่วยงานภาครัฐ
  • ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

 

ตัวอย่างการใช้งานในธุรกิจ

 

Case Study ธุรกิจบริการทางการเงินและธนาคารกับการใช้ RPA

งานหลักของธุรกิจธนาคารอย่างหนึ่งคือ “งานด้านเอกสาร” อาทิ การจัดเก็บข้อมูล การจัดทำเอกสาร Statement, Payment Bill, Paycheck และ Invoice ต่าง ๆ เมื่อจัดทำเอกสารเสร็จก็นำส่งเอกสารต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง งานประเภทนี้เป็นงานที่มีปริมาณมหาศาลและกินระยะเวลายาวนาน ซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะมาก แต่จำเป็นต้องมีความรอบคอบและคอยตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำอย่างละเอียด RPA กับงานบัญชีและงานเอกสารจึงเป็นของคู่กัน เพราะช่วยตอบโจทย์งานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี โดยหุ่นยนต์จะช่วยดูแลไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นทุกประการ

 

นอกจากนี้ “งานอนุมัติและตรวจสอบเอกสาร” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของธนาคาร เมื่อมีลูกค้ามาเปิด-ปิดบัญชีหรือยืนยันตัวตน ต้องมีผู้อนุมัติและตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถือเป็นงานประเภทที่มีเงื่อนไขไม่ซับซ้อนและมีการตัดสินใจอย่างตายตัว จึงเป็นอีกงานที่ RPA ช่วยได้ดีเช่นกัน

 

เช่นเดียวกับ “งานบริการ” ของธุรกิจธนาคารที่ต้องให้บริการลูกค้าในเรื่องข้อมูล แจ้งเตือนกำหนดเวลาทางการเงิน ส่งข้อมูลสำคัญแก่ลูกค้า รวมถึงการให้บริการออนไลน์ ซึ่งในยุคนี้ธุรกิจการเงินมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ดังนั้น ใครที่สามารถให้บริการได้ดีกว่าเร็วกว่าก็จะสร้างความประทับใจและดึงดูดลูกค้าได้มากกว่านั่นเอง

 

Case Study ธุรกิจทั่วไป

“งานออกใบกำกับภาษี” เป็นงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องการความแม่นยำ เปลืองทรัพยากรเวลาและกระดาษเป็นอย่างมาก จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มาอยู่ในมือของหุ่นยนต์อัตโนมัติหรือ RPA แล้ว โดย RPA ช่วยให้กระบวนการเหล่านี้เสร็จอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัยกว่าเดิมอีกด้วย

 

“งานทรัพยากรบุคคล” ในองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง เมื่อมีการประกาศรับสมัครงานก็มักจะได้รับความสนใจและมีผู้สมัครงานจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR ที่อาจมีกำลังคนจำกัด และต้องประสบปัญหาการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลของผู้สมัคร ซึ่ง RPA สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในส่วนนี้ได้เช่นกัน โดยตั้งโปรแกรมให้จัดเรียงและคัดกรองข้อมูลผู้สมัครทำให้สามารถจัดการทรัพยากรบุคคลได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ RPA ยังสามารถใช้จัดการข้อมูลบุคคลของพนักงานในองค์กรปัจจุบันได้อีกด้วย

 

 

ข้อดีของ RPA ที่มีให้กับธุรกิจของคุณ?

 

การลงทุนใน RPA ถือเป็น “การลงทุน” เพื่อ​ “ลดต้นทุนในระยะยาว” ให้แก่ธุรกิจ ในปัจจุบันหลายองค์กรทั่วโลกกว่า 53% (Deloitte Global RPA Survey) เริ่มนำเทคโนโลยี RPA เข้ามาใช้ทำงานแทนคนบางส่วน เพื่อลดงานที่ไม่จำเป็นให้กับพนักงานในองค์กร ทำให้พนักงานนำเวลาไป Focus กับสิ่งที่จำเป็นและใช้เวลาที่เหลือไปพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ดีขึ้น การนำ RPA มาใช้ในองค์กรมีข้อดีมากมาย เรามาเจาะข้อดีข้อเสียของ PRA ไปพร้อมกัน

 

1. ทำงานให้ฉลาดขึ้นด้วย RPA Working Smarter With Technology 

Steve Jobs เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Technology alone is not enough.” การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะเทคโนโลยีคือสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ ช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงช่วยให้เราพัฒนาไปได้ไกลขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีกับมนุษย์จึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การนำ RPA เข้ามาใช้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี

 

องค์กรสามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อนำ RPA เข้ามาใช้ เทคโนโลยี RPA ยังสามารถทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมอื่น ๆ ได้หลายแพลตฟอร์ม และยังทำให้เรามั่นใจใน Cyber Security มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

2. ลดต้นทุนระยะยาว Cost Saving

RPA ช่วยธุรกิจประหยัดงบประมาณได้ในระยะยาว ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน การจ้างคนเพิ่ม และการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา ผลสำรวจจาก Pwc พบว่า การนำ RPA เข้ามาใช้ทำงานในปี 2020 สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานทั่วโลกลดลงได้กว่า 65 ล้านล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนทรัพยากรอื่น ๆ อย่างทรัพยากรกระดาษ เนื่องจากงานบางประเภทจำเป็นต้องใช้กระดาษจำนวนมากเพื่อให้พนักงานตรวจสอบข้อมูล แต่การใช้ RPA ทำให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลแบบ Paperless ได้เลย

 

3. ประหยัดต้นทุนด้านเวลา Time Saving

Man-hour เป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กร RPA ช่วยธุรกิจประหยัดต้นทุนด้านเวลาจำนวนมาก เนื่องจาก RPA ช่วยร่นระยะเวลาทำงานจาก 15 ชั่วโมงเหลือเพียง 20 นาทีได้ ทำให้ทำงานได้ปริมาณมากขึ้นในระยะเวลาเท่าเดิมและยังสามารถโปรแกรมให้ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

4. เพิ่มความแม่นยำขึ้น 100% Greater Accuracy

ผลสำรวจจาก Pwc ชี้ชัดว่า RPA สามารถทำงานได้ถูกต้อง 100% เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ เพราะการที่พนักงานทำงานเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานทำให้เกิด Human Error ได้ถึง 5% ดังนั้น การนำ RPA เข้ามาใช้โดยปรับกระบวนการทำงานให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติจะช่วยทำให้งานไม่ตกหล่นและถูกต้องแม่นยำจึงเป็นที่นิยมสำหรับองค์กรทั่วโลก

 

5. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน Productivity

RPA ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากได้งานคุณภาพที่ไม่มีข้อผิดพลาดในระยะเวลาอันรวดเร็วและยังมีความเสถียร รวมทั้งส่งผลดีต่อการบริหารจัดการขององค์กรอีกด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลจาก RPA จะถูกจัดเก็บเอาไว้ใน Database ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังและวัดผลได้ เมื่อกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและความรวดเร็วจึงช่วยส่งมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าปลายทางตามไปด้วย

 

6. ทีมงานได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ Employee Development

RPA ช่วยลดภาระงานที่ไม่จำเป็นเพื่อให้พนักงานไปโฟกัสในสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น ทำให้พนักงานมีชั่วโมงการทำงานสำคัญเพิ่มขึ้น มีเวลาพัฒนาตัวเองมากขึ้น มีความสุขมากยิ่งขึ้น เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยปริมาณงานที่เหมาะสม และลดอัตราการลาออก องค์กรจึงได้บุคลากรที่มีความสามารถสูงขึ้นนั่นเอง

 

ด้วยประโยชน์ของ Robotic Process Automation ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ระดับ ROI ขององค์กรเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนในระยะยาวได้อีกด้วย สังเกตได้ว่าตลาด RPA ในช่วงปี 2021 มีการเติบโตขึ้นกว่า 19.53% โดยมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์ จากการคาดการณ์และผลสำรวจจาก Gartner เพราะ RPA คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่จะพาธุรกิจมุ่งไปสู่การเป็น Digital Company ในยุคดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

RPA จะมาแทนที่คนและแย่งงานหรือเปล่า?

 

คำถามข้อนี้คงเป็นคำถามสำคัญที่หลาย ๆ คนกำลังสงสัยหรือกังวลใจกันอยู่ว่า ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนคนหรือไม่? เรามีโอกาสโดนแย่งงานหรือเปล่า? ต้องบอกว่าเทคโนโลยี Robotic Process Automation อาจจะเข้ามาทำงานหลาย ๆ ส่วนแทนคนได้ แต่ในการทำงานจริงก็ยังจำเป็นต้องอาศัยคนเข้ามาทำงานร่วมกันอยู่

 

RPA ยังต้องการคนคอยป้อนข้อมูล ออกแบบ Workflow ให้สอดคล้องกับระบบการทำงานและพัฒนาปรับปรุงไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีงานอีกหลายส่วนที่ต้องทำร่วมกันกับคนและยังขาดความเป็นมนุษย์ไปไม่ได้ เช่น งานให้บริการลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์ทางอารมณ์ งานให้คำปรึกษาที่มีความซับซ้อนและมีเรื่องอ่อนไหวเข้ามาเกี่ยวข้อง งานที่ต้องอาศัยความเป็นธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

RPA เพียงแค่เข้ามาช่วยลดงานในส่วนที่ไม่จำเป็นให้กับเรา เพื่อให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นไปทำงานที่สำคัญและจำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่า RPA จะนำโอกาสทางอาชีพและธุรกิจใหม่ ๆ มาอีกมากมาย หากเรากลัวที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่กล้าก้าวเข้าไปหาเทคโนโลยีก็จะถูก Disrupt ไปอย่างง่ายดาย ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการหาวิธีอยู่ร่วมและเดินไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

 

สรุป

 

Robotic Process Automation หรือ RPA คือ Solution ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในยุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล RPA ยังเป็นทางออกในการรับมือกับวิกฤตที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้อีกด้วย เทคโนโลยีซอฟต์แวร์หุ่นยนต์อัตโนมัตินี้จะเข้ามาช่วยธุรกิจได้ในหลาย ๆ ด้าน ลดงานให้ทีม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และยังถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะสามารถลดต้นทุนในระยะยาวให้กับธุรกิจอีกด้วย

 

ถึงแม้ว่า RPA จะมีข้อดีมากมายแต่ในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงเช่นกัน การลงทุนกับ RPA เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าจำนวนไม่น้อยและมีให้เลือกมากมายในตลาด ซึ่งแต่ละตัวก็มีข้อจำกัดและฟีเจอร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณควรเลือก “สิ่งที่ใช่ ซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์” สำหรับองค์กร เพื่อมาเป็น Solution ให้กับองค์กร เพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กร การมีผู้แนะนำที่เชี่ยวชาญจึงสำคัญต่อธุรกิจ ให้ G-Able ช่วยแนะนำให้คุณทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ใช้เทคโนโลยี RPA เป็นอาวุธคู่ใจที่จะพาธุรกิจคุณเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคนี้

ให้เราช่วยเสริมศักยภาพของคุณ เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม