
19 Jun The Holy Grail of AI – ทำไมเรายังห่างไกลจากยุคทองของ AI [ตอนที่ 1]
ในโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ เมื่อทุกคนต่างใฝ่ฝันที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน
และพัฒนาโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมและเมื่อการมาถึงของ Artificial Intelligence หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ AI (เอไอ) เทคโนโลยีอัจฉริยะที่นักคอมพิวเตอร์เรียกมันว่า ปัญญาประดิษฐ์ ทำให้หลายคนต่างก็เชื่อว่านี่แหละคือสิ่งที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลก และพาเราเข้าไปสู่ยุคเฟื่องฟูขั้นสุดของวงการดิจิทัลเลยทีเดียว
อย่างที่เรารู้จักกันดีว่า AI มันก็คือโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานและเรียนรู้สิ่งต่างๆได้เองอย่างอัจฉริยะ หรือความสามารถที่ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของเราสั่งการได้ด้วยวิธีเดียวกับที่เราสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันเอง อีกทั้งยังฉลาดล้ำ คำนวณสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปอย่างเราทำไม่ได้ภายในเวลาสั้นๆ ถ้าใครเคยดูหนังอย่างเช่นเรื่อง Iron Man ที่มีผู้ช่วยสุดอัจฉริยะเป็นระบบคอมพิวเตอร์แล้วละก็ คงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างใฝ่ฝันว่าวันหนึ่ง สิ่งประดิษฐ์สุดล้ำสมัยแบบนั้นจะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก
รูปภาพประกอบจาก ภาพยนต์ Iron Man มหาประลัย คนเกราะเหล็ก
ทุกวันนี้พูดถึงเทคโนโลยีอย่าง Image Processing, Voice Recognition, Speech Processing หรือกระทั่ง Translation ต่างๆ ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก และด้วยความสามารถของมันอาจทำให้เราคิดว่าอีกไม่นานเราคงสร้างหุ่นยนต์อัจฉริยะแบบคนเหล็กหรือหุ่นยนต์ผู้ช่วยแบบ Iron Man ได้อย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น วิทยาการและความรู้ของเรายังห่างไกลกับการสร้างสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะพวกนั้นขึ้นมาได้แบบไกลลิบเลยทีเดียว เพราะทุกวันนี้ AI ที่เรารู้จักกันดีนั้นยังเรียกได้ว่ามีความสามารถที่เทียบไม่ติดกับหุ่นยนต์สุดล้ำที่เราต่างจินตนาการเอาไว้เลย
รูปภาพประกอบจาก : dupress.deloitte.com
ความจริงแล้วนั้นสิ่งที่วงการ AI ต้องการจะสร้างขึ้นมาจริงๆนั่นก็คือ Artificial General Intelligence หรือ AGI ต่างหาก ซึ่ง AGI นั้นเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดที่นักคอมพิวเตอร์และนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องพยายามพัฒนาความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ให้ไปถึง
William Vorhies นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับ AGI นั้นเปรียบ AGI ไว้ว่าเป็น The Holy Grail of AI หัวใจที่แท้จริงของวงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เลยทีเดียว
พอมาถึงจุดนี้เราก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้ว AGI นั้นมันต่างกันยังไงกับ AI
คำตอบก็คือ มันไม่ต่างกัน!
AGI ก็คือ AI เพียงแต่มันคือ AI ที่มีความสามารถเทียบได้กับมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูล และความสามารถที่ตอบโต้กับมนุษย์ทั่วไปได้เหมือนกับว่า มันคือมนุษย์คนหนึ่งเลย ขาดแต่ไม่มีอารมณ์และความรู้สึกในด้านที่ละเอียดอ่อนอย่างที่คนทั่วไปมีกัน ในขณะที่ AI ตอนนี้ทำงานได้แบบที่ค่อนข้างจะเฉพาะทาง และถูกสร้างมาให้ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ พวก AI อย่างเช่น Image, Speech และ Text Processing ต่างๆนั้นเป็นเหมือนแค่ตา หู จมูก ปากเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ที่ AGI เกิดขึ้นมา นั่นแหละคือ สมองที่จะใช้ในการสั่งการ และรวมกันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถอัจฉริยะที่แท้จริง
คำถามที่เกิดตามมาก็คือ
ทำไมเรายังห่างไกลจากการสร้าง AGI มากนัก และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสร้างมันขึ้นมา?
ถ้าเราลองหยิบกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ขึ้นมาอ้างอิง ที่บอกว่า
เทคโนโลยีนั้นจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวมจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในประมาณทุกๆ สองปี ทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆแบบทวีคูณ
รูปภาพประกอบจาก : kylebean
แบบนี้เราก็อาจจะไปถึงจุดที่สร้าง AGI ขึ้นมาได้สิ?
เพราะถ้าหากเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่เราไม่คิดว่าจะมีก็เกิดขึ้นมาตั้งมากมาย ถ้าอย่างนั้นงั้นทำไมอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะสร้าง AGI ขึ้นมาไม่ได้เชียวหรือ
พอมาถึงจุดนี้เราจึงต้องไปทำความเข้าใจถึงความสามารถพื้นฐานของ AGI และปัญหาในการพัฒนา AI ในปัจจุบันนี้เสียก่อน เพื่อที่เราจะหาคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเรายังห่างไกลจากจุดนั้นเหลือเกิน
ความสามารถพื้นฐานของ AGI ควรจะเป็นอย่างไร? หาคำตอบได้ในตอนถัดไป
อ่าน The Holy Grail of AI – ทำไมเรายังห่างไกลจากยุคทองของ AI [ตอนที่ 2]
ขอบคุณข้อมูลจาก The Holy Grail of AI (William Vorhies), intelligence.org, dupress.deloitte.com